อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อ.คุระบุรี จ.พังงา (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้ออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์นี้มีด้วยกันทั้งหมด 6 หน้า ท่านสามารถ click link ตัวเลขที่ด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
นอกเหนือไปจากชื่อเสียงในเรื่องของการเป็นแหล่งชมปะการังน้ำตื้นที่สวยที่สุดในฝั่งทะเลอันดามันของ อช.หมู่เกาะสุรินทร์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญคู่กันกับ อช.หมู่เกาะสุรินทร์ ก็คือ “ชาวมอแกน” ชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเลที่มีประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตอันน่าสนใจ เมื่อครั้งอดีตชาวมอแกนใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่บริเวณเกาะในทะเลอันดามันมานานหลายร้อยปี โดยในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ(ฤดูแล้ง) ประมาณเดือน พ.ย. – เม.ย. เมื่อทะเลเรียบ ชาวมอแกนจะใช้ “เรือก่าบาง” (เรือขุดเสริมกราบไม้ระกำ ใช้ใบเตยทะเลเย็บเข้าด้วยกันเป็นใบเรือและหลังคา มีรอยหยักเว้าที่หัวเรือและท้ายเรือ มีแจวลำละ 4 – 6 แจวเผื่อเวลาไม่มีลม มีเตาไฟภายในเรือ) เรือซึ่งเป็นทั้งบ้านและพาหนะเดินทางไปตามเกาะต่างๆเพื่อทำมาหากิน เก็บเปลือกหอย ,ปลิงทะเล ,รังนก ,ฯลฯ นำไปแลกเปลี่ยนอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันกับเถ้าแก่บนฝั่ง พอถึงช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้(ฤดูฝน) ประมาณเดือน พ.ค. – ต.ค.ทะเลมีคลื่นลมแรง ชาวมอแกนจะหยุดเคลื่อนย้ายและอพยพขึ้นมาสร้างบ้านเรือนในบริเวณอ่าวที่เป็นจุดหลบคลื่นลมโดยจะเลือกพื้นที่ซึ่งมีแหล่งน้ำจืดและอยู่ไม่ห่างไกลจากชายฝั่งนัก ช่วงฤดูนี้ชาวมอแกนจะมีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างติดที่และเดินทางอยู่เพียงใกล้ๆกับแหล่งที่ตั้งชุมชนเท่านั้น ในการเดินทางระยะใกล้ๆ ริมชายฝั่งทะเลนี้ชาวมอแกนจะใช้เรือแจวขนาดเล็กซึ่งขุดจากไม้ทั้งต้นที่เรียกว่า “เรือฉ่าพัน” เป็นหลักแทนเรือก่าบาง แต่วิถีชีวิตซึ่งเริ่มเปลี่ยนไปในปัจจุบันทำให้ไม่ค่อยมีชาวมอแกนใช้ชีวิต กิน อยู่ หลับนอน บนเรือขนาดเล็กสักเท่าไหร่แล้ว ประกอบกับความสะดวกรวดเร็วในการใช้ “เรือหัวโทง” มีมากกว่าจึงทำให้เรือก่าบางและเรือฉ่าพันค่อยๆ ลับเลือนหายไปจากชุมชนชาวมอแกนในที่สุด
ชาวมอแกนมีเพียงภาษาพูดไม่มีภาษาเขียนเรื่องราวหรือตำนานต่างๆ จึงได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยวิธีการเล่าจากปากต่อปากเท่านั้น หนึ่งในเรื่องราวตำนานเก่าแก่ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาแห่งท้องทะเลที่ได้รับการเล่าสืบทอดต่อๆกันมาในหมู่ชาวมอแกน ก็คือ เรื่องราวของ “ละบูน” หรือ “คลื่นใหญ่”
ตามตำนานเก่าแก่ของชาวมอแกนกล่าวว่า เมื่อผืนแผ่นดินเต็มไปด้วยความสกปรกโสมม “เจ้าแห่งคลื่น” จะโกรธเกรี้ยวและส่ง “ละบูน” คลื่นยักษ์มาซัดล้างความสกปรกโสมมเหล่านั้นให้หมดไป ยามที่คลื่นยักษ์นี้เกิดขึ้นน้ำทะเลจะเอ่อท่วมขึ้นชั่วขณะแล้วลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นผืนน้ำจะม้วนตัวสูงขึ้นๆจนกลายเป็นคลื่นยักษ์ซัดเข้าทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าจนหมด เมื่อครั้งเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 นั้น ผู้ใหญ่ชาวมอแกนบางคนหวนระลึกถึงตำนานเก่าแก่นี้และคาดว่าคลื่นยักษ์คงจะเกิดขึ้นแน่ เนื่องจากสังเกตเห็นน้ำทะเลเหือดแห้งไปอย่างรวดเร็วจึงร้องเตือนกันให้วิ่งขึ้นไปอยู่บนที่สูง (ในขณะนั้น คือ เนินเขาหลังหมู่บ้าน ณ อ่าวบอนใหญ่และอ่าวไทรเอน) บางคนก็ร้องเตือนนักท่องเที่ยว บางคนก็ช่วยพานักท่องเที่ยวหนีขึ้นไปบนเนินเขา ชาวมอแกนหนุ่มบางคนซึ่งขับเรืออยู่ก็นำเรือออกไปให้ห่างจากเกาะและชายหาดเพราะรู้ดีว่าคลื่นและกระแสน้ำที่ปั่นป่วนนั้นจะกระแทกเรือ คน และ สิ่งของต่างๆเข้ากับฝั่งอย่างรุนแรง แม้ว่าจะมีคลื่นรวมถึงกระแสน้ำที่ปั่นป่วนและร่องน้ำต่างๆ เปลี่ยนไปเพราะแรงคลื่นแต่หนุ่มๆชาวมอแกนก็มีสติและประคองเรือให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย ทำให้ในเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีชาวมอแกนซึ่งอาศัยอยู่ ณ หมู่เกาะสุรินทร์ได้รับอันตรายจากคลื่นยักษ์ถึงขั้นเสียชีวิตเลยแม้แต่คนเดียว นอกจากนี้ชาวมอแกนยังสามารถช่วยชีวิตนักท่องเที่ยวไว้ได้อีกหลายคนด้วย ความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิทำให้ชาวมอแกนต้องอพยพไปอยู่ ณ วัดสามัคคีธรรมบนฝั่งเป็นการชั่วคราว ต่อมาเมื่อความวุ่นวานต่างๆได้ผ่านพ้นไปแล้วชาวมอแกนก็ได้กลับมายังหมู่เกาะสุรินทร์อีกครั้งและมีอาสาสมัครจากบนฝั่งมาช่วยกันสร้างหมู่บ้านให้ใหม่ที่อ่าวบอนใหญ่ซึ่งเป็นชุมชนมอแกนเพียงแห่งเดียวบน อช.หมู่เกาะสุรินทร์ ในปัจจุบัน
|
บริเวณด้านหน้าหาดหมู่บ้านมอแกน เสาหล่อโบง (ภาพที่สองจากซ้าย) และเรือฉ่าพัน (ภาพที่สามจากซ้าย) |
|
สาว ๆ ต่างวัยแต่หัวใจเป็นมอแกนเหมือนกัน กับเรือหัวโทงที่พาเรามาถึงหมู่บ้านมอแกนแห่งนี้ |
|
บ้านของชาวมอแกน และเด็ก ๆ ที่ช่วยกันนำงานฝีมือที่ทำเองมาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว
และเรือก่าบาง (ภาพขวาสุด)
|
|
เหล่าเรือหัวโทงเทียบริมหาดรอรับนักท่องเที่ยวกลับที่พัก |
|
ชุมชนชาวมอแกนกว่า 50 หลังคาเรือน ณ อ่าวบอนใหญ่ |
หากคุณลองสังเกตบริเวณด้านหน้าหมู่บ้านมอแกน ด้านหน้าอ่าวช่องขาด และ ด้านหน้าอ่าวไม้งาม จะสามารถพบเห็นเสาไม้แกะสลักเลียนแบบรูปคนทั้งหญิงและชายเรียกว่า “เสาหล่อโบง (ลอโบง)” เสาไม้นี้เป็นตัวแทนวิญญาณปกป้องรักษาชาวมอแกน โดยวิญญาณเพศชายเป็นผีตาเรียกว่า “อีบ๊าบ” ส่วนวิญญาณเพศหญิงเป็นผียายเรียกว่า “อีบูม” ทุกๆปีในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ชาวมอแกนจะมีการจัดพิธีบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณในธรรมชาติ “เหน่เอนหล่อโบง” โดยมีสัญลักษณ์เป็น “เสาหล่อโบง” และเรือลอยเคราะห์ที่เรียกว่า “ก่าบางชวาย”
ภายหลังจากที่ลูกหลานชาวมอแกนบนหมู่เกาะสุรินทร์ได้เริ่มเข้าสู่การเรียนการสอนในระบบโรงเรียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยใช้ภาษาไทยเป็นสื่อก็หันมาซึมซับภาษาไทยและเพลงไทยมากขึ้น ที่เคยมีความสุขจากการร้องเพลงมอแกนก็หันมามีความสุขกับการร้องเพลงยอดนิยมภาษาไทยแทนจนกระทั่งละเลยเพลงและบทร้องดั้งเดิมซึ่งบรรยายถึงความงามตามธรรมชาติ ,การเดินทางไกลไปตามเกาะต่างๆ ,การทำมาหากินทางทะเล ,ความสุขในการพบปะคนรัก ,ฯลฯ ทำให้ความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวมอแกนรุ่นใหม่ๆเริ่มถดถอยลง สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปชมวิถีชีวิตของชาวมอแกน ณ อ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้นั้นต้องลองสอบถามศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบริเวณอ่าวช่องขาด/อ่าวไม้งามดูเป็นวันๆไป เนื่องจากทาง อช.หมู่เกาะสุรินทร์ จะไม่ได้จัดเรือทัวร์ไปยังหมู่บ้านมอแกนให้ทุกวัน กรณีที่มีเรือทัวร์ให้บริการในวันนั้นๆ ค่าบริการจะอยู่ที่ 80 บาท/คน/รอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพานักท่องเที่ยวขึ้นเรือหัวโทงมายังอ่าวบอนใหญ่และให้เวลาเดินเล่นชมทิวทัศน์และวิถีชีวิตของชาวมอแกน รวมถึงถ่ายภาพที่ระลึกต่างๆ เป็นเวลาประมาณ 1 – 1 ½ ชม. แล้วจึงกลับสู่ศูนย์บริการฯโดยไม่มีการแวะดำน้ำตื้น ณ จุดอื่นๆเพิ่มเติมแต่อย่างใด (พูดง่ายๆ คือ มาดูหมู่บ้านมอแกนอย่างเดียวแล้วกลับนั่นเอง)
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หน้า 1 2 3 4 5 6
|
|